27 กันยายน 2558

วันเบาหวานโลก



    โรคเบาหวานถูกจัดให้เป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับ ๓ ของโรคไม่ติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โรคแทรกซ้อนที่สำคัญของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นสาเหตุของการตาย คือ โรคไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน นอกจากนี้ผู้ป่วยเป็นเบาหวานมีโอกาสตาบอด เนื่องจากจอประสาทตาเสื่อมสูงกว่าคนปกติถึง ๒๕ เท่า และมีโอกาสถูกตัดขาด เนื่องจากเกิดแผลตายเน่าที่เท้ามากกว่าคนปกติถึง ๔๐ เท่า 
              มีประชากรกว่า ๑๐๐ ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในเอเชีย มีจำนวนถึง ๕๐ ล้านคน ทำให้แต่ละประเทศต้องใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขประมาณ ๕% ต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลเบาหวานซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยารักษาโรคเบาหวาน แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมรักษาโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคไตวาย การฟอกไต การเปลี่ยนไต โรคอัมพาต ตาบอด รวมทั้งการที่ต้องถูกตัดขา เนื่องจากโรคเบาหวาน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
              ดังนั้นองค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ จึงจัดให้มีวันเบาหวานโลกขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ และกำหนดให้วันที่ ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน โดยชักชวนให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกจัดกิจกรรมส่งเสริม สนับสนุน ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคเบาหวานให้กับประชาชนทั่วไป
            สำหรับโรคเบาหวานในประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราการตายของผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงขึ้นตามลำดับ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ พบว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานตาย ๓,๕๘๓ คน สูงขึ้นเป็น ๒ เท่าของปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีผู้เสียชีวิตจากโรคไตวาย รวม ๔,๖๔๑ คน
            ผู้มีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคเบาหวาน คือ ผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อย และมีปริมาณมาก กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย กินจุแต่ผอมลง น้ำหนักลดและอ่อนเพลียผิดปกติ เป็นแผลฝีหายยาก คันผิวหนังและอวัยวะสืบพันธุ์ ตาพร่ามัว
            ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถรักษาและควบคุมไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้โดยการควบคุมอาหาร และควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ควรน้อยกว่า ๑๔๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร และออกกำลังกายสม่ำเสมอ บางรายอาจต้องรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินภายใต้การดูแลของแพทย์
            สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดอินซูลิน ในปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาอุปกรณ์การฉีดอินซูลินให้ทันสมัยขึ้น โดยใช้ปากกาฉีดอินซูลิน (NovoPen) แทนกระบอกฉีดยา ซึ่งเป็นทางเลือกในการฉีดอินซูลินที่ง่าย สะดวก ขนาดยาที่ได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น ทั้งยังเจ็บน้อยมากขณะฉีดยา อีกทั้งสามารถพกพาอินซูลินไปฉีดตามสถานที่ต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องแช่เย็นทำให้การฉีดยาไม่เป็นปัญหากับผู้ป่วยอีกต่อไป ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมและดูแลเบาหวานได้ดีขึ้น